เสาไฟฟ้าแรงสูงในประเทศไทย

เสาไฟฟ้าแรงสูงในประเทศไทย

เสาไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ถูกผลิตมาเพื่อเป็นตัวค้ำจุน และติดตั้งสายไฟฟ้าให้อยู่สูงเหนือจากพื้นดิน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยและสัญจร ไม่ให้เสี่ยงกับการโดนสายไฟฟ้าช็อตใส่ได้โดยง่าย ซึ่งเสาไฟฟ้าที่เราเห็นกันโดยทั่วไปนั้นจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ เสาไฟฟ้าแรงดันต่ำ ที่เป็นเสาปูนตั้งอยู่ตามแนวฟุตบาทข้างถนน และเสาไฟฟ้าแรงดันสูง ซึ่งเป็นเสาเหล็กขนาดใหญ่ ที่มักถูกติดตั้งอยู่บนพื้นที่โล่งกว้างและมีระยะห่างจากเสาหลายเมตร

 

ไฟฟ้าแรงสูงคืออะไร

ไฟฟ้าแรงสูง คือ ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันระหว่างสายไฟสูงกว่า 1000 โวลต์ ซึ่งไฟฟ้าชนิดนี้จะมีคุณสมบัติในการส่งแรงดันไฟได้ในระยะไกล รวมถึงมีอัตราการสูญเสียพลังงานที่น้อยกว่าระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ เราจึงมักพบเสาไฟฟ้าแรงดันสูงตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับตัวเมือง หรืออยู่ใกล้กับเขตโรงงาน เพราะในตำแหน่งของสถานที่เหล่านี้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากเป็นพิเศษ โดยระบบไฟฟ้าแรงดันสูงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น จะมีตั้งแต่ขนาด 1,200  - 115,000 โวลต์ และระบบแรงดัน  230,000  โวลต์ ซึ่งถูกนำไปใช้ในบางพื้นที่

 

ความอันตรายของไฟฟ้าแรงดันสูง

ขึ้นชื่อว่าไฟฟ้าล้วนถือเป็นสิ่งที่มีความอันตรายอยู่แล้ว และยิ่งถ้าหากเป็นไฟฟ้าแรงดันสูงก็ยิ่งมีความอันตรายมากเข้าไปใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบกำลังระหว่างไฟฟ้าแรงดันต่ำ กับไฟฟ้าแรงดันสูง ก็จะเห็นความต่างอย่างชัดเจน  เพราะในระดับครัวเรือนใช้กันเพียงแค่ 220 โวลต์เท่านั้น

ดังนั้นไฟฟ้าแรงสูงที่มีกำลังขั้นต่ำอยู่ที่ 12,000 โวลต์ จึงสามารถที่จะกระโดดข้ามอากาศ หรือฉนวนไฟฟ้าเข้าหาวัตถุ ไปจนถึงสิ่งที่มีชีวิตที่อยู่ในระยะนั้นได้โดยไม่ต้องสัมผัสเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเสาไฟฟ้าแรงดันสูง จึงมักนำมาตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง หรือห่างจากอาคารบ้านเรือนเพื่อป้องกันไม่ให้มีกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านอากาศไปโดนประชาชนนั่นเอง

 

เสาไฟฟ้าแรงดันสูง

เสาไฟฟ้าแรงดันสูงจะสามารถแบ่งออกได้  2 แบบตามลักษณะวงจรคือแบบวงจรเดี่ยวกับแบบวงจรคู่ ซึ่งในแบบวงจรเดี่ยวนั้นจะอยู่ในเสาไฟที่มีความสูง  9 เมตร กับ 32 เมตร ขณะที่วงจรคู่ จะอยู่ในเสาไฟที่มีความสูง 45 เมตร กับ 65 เมตร โดยยิ่งถ้าหากเสาไฟฟ้ามีความสูงมากเท่าไหร่แรงดันไฟฟ้าก็สูงตามไปด้วย และเพื่อป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้ามากระทบยังสิ่งต่าง ๆ จึงมีการยึดสายไฟไว้ ด้วย ลูกถ้วย ซึ่งทำจากวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้ามาประกอบเข้ากันเป็นชั้น ๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลจากสายตัวนำ ไปสู่โครงสร้างเสา และเช่นเดียวกับขนาดของเสาไฟฟ้าที่ยิ่งถ้าหากมีลูกถ้วยเรียงต่อกันมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายความว่าภายในสายมีแรงดันไฟอยู่เป็นจำนวนมากตามไปด้วย

 

ลูกถ้วย ของเสาไฟฟ้าแรงดันสูง

ลูกถ้วยนั้นจะทำมาจากวัสดุ แก้ว หรือ กระเบื้องเคลือบ อันมีคุณสมบัติเป็นฉนวนป้องกันการไหลของกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ยังมีความทนทานไม่เสียหายได้ง่าย แต่เมื่อมีการใช้งานไปนาน ๆ ฝุ่นละอองจะเริ่มเข้ามาเกาะอยู่บนตัวลูกถ้วย และอาจเกิดการนำไฟฟ้า เราจึงมักเห็นเจ้าหน้าที่คอยฉีดน้ำชำระล้างใส่ตัวอุปกรณ์อยู่เสมอนั่นเอง

 

 

Visitors: 255,568